วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

" คะน้า " แหล่งวิตามินและใยอาหารต่อต้านมะเร็ง
        คะน้าหรือคานา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica alboglabra ชาวจีนเป็นผู้นำเมล็ดพันธุ์เข้ามาปลูกในประเทศไทย คนไทยนิยมนำมาทำก๋วยเตี๋ยวราดหน้า เพราะยอดคะน้ากรอบอร่อย หากปลูกด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์จะได้คะน้ารสไม่ขม สีเขียวเข้ม และมีสารอาหารครบถ้วน

         ผักชนิดนี้มีเบต้าแคโรทีนและวิตามินซีปริมาณสูง เมื่อกินเข้าไป ร่างกายจะย่อยและนำเบต้าแคโรทีนไปสร้างวิตามินเอ กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การกินคะน้า 100 กรัม จะได้รับวิตามินเอ 9,300 ไอยู ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ กระเพาะอาหาร ปอด ลำคอ และกระเพาะปัสสาวะ

        ไม่เพียงแต่มีวิตามินเอสูงเท่านั้น คะน้ายังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ไนอะซิน ใยอาหาร เหล็ก วิตามินบี 1 และบี 2 สูง ช่วยให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่น ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เสริมระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดอาการท้องผูก ช่วยให้สายตาดี บำรุงกระดูกและฟัน

         ผู้ทดลองปลูก ระหว่างคะน้ากำลังเติบโต พบว่า มีศัตรูพืชมารบกวนเยอะมาก วิธีป้องกันแมลงเหล่านั้นคือ สับพริกขี้หนู 1 กำมือ ใบมะกรูด 7 ใบ และเปลือกมะนาว 2 ลูก เข้าด้วยกันจนละเอียด จากนั้นนำไปแช่น้ำ 1 ลิตร ทิ้งไว้ 10 ชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำไปใช้รดผัก

         ประโยชน์ที่ได้การปลูกผักกินเองคือ ขัดเกลาจิตใจให้อ่อนโยนและได้ผักปลอดสารพิษบำรุงสุขภาพค่ะ

คะน้า

มือใหม่หัดปลูกคะน้า

   ดินผสมกับขุยมะพร้าว อัตราส่วน 4 ต่อ 1 ใส่ลงในตะกร้าสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 20 x 30 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่ม
   ใช้ไม้กดเป็นร่องลึก 1 เซนติเมตรตามแนวยาวของตะกร้า ประมาณ 3-4 แถว
   โรยเมล็ดคะน้า 5-10 เมล็ดลงไปในแต่ละร่องเกลี่ยดินกลบบางๆ รดน้ำทุกวันเช้าและเย็น ประมาณ 4-5 วัน ต้นกล้าคะน้าจะมีใบเลี้ยง 2 ใบ
   แยกต้นกล้าลงปลูกในกระบะปลูกผัก ใช้ดินผสมปุ๋ยหมัก อัตราส่วน 3 ต่อ 1
   รดน้ำเบาๆ นำกระบะปลูกผักไปตั้งไว้ในที่แสงแดดส่องรำไร 4-6 วัน จากนั้นจึงยกกระบะไปตั้งในบริเวณที่แสงแดดส่องถึงในช่วงเวลา 7.00 น. – 11.30 น.
   ตัดคะน้ากินได้หลังจากปลูก 40-45 วัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น