วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

10 โรคป่วยกายจากป่วยใจ โรคที่เกิดจากความเครียดหรือข้อขัดแย้งในจิตใจ

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease)

     เป็นโรคที่มีผลกระทบต่อประชากรทั้งโลกในอันดับต้นๆ กล่าวคือมีประชากรที่ต้องพิการหรือทุกข์ทรมานจากโรคนี้ รวมถึงมีอัตราการตายสูงที่สุดโรคหนึ่ง อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจแล้วว่าอาการของโรคนี้เกิดขึได้เสมอหากผู้ป่วยมีความเครียดหรือความโกรธที่ฉับพลันและรุนแรง มีผู้เสนอว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหรือมีอาการเหล่านี้มักมีบุคลิกภาพที่ชอบการแข่งขัน มีการตอบสนองต่อสถานการณ์รอบด้านแบบรุนแรง มีความทะเยอทะยาน ไขว่คว้า ตั้งความคาดหวังสูง และมีพื้นอารมณ์แบบหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ลักษณะทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ในทางจิตวิทยารวมเรียกว่า “บุคลิกภาพแบบ A” (Type A Personality) ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายตามมามากมาย เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ILDU และไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) สูง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความเสี่ยงต่อ การเกิดรอยโรคที่หลอดเลือดของหัวใจทั้งสิ้น

โรคความดันโลหิตสูง ไม่ทราบสาเหตุ (Essential Hypertension)

       ภาวะที่มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติ (ความดันโลหิตตัวบนหรือ Systolic สูงตั้งแต่ 140 มม. ปรอทขึ้นไป หรือความดันโลหิตตัวล่างหรือ Diastolic สูงตั้งแต่ 90 มม. ปรอทขึ้นไป) อย่างต่อเนื่อง โดยกว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยในทางการแพทย์ ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้


       มีการวิจัยพบว่าส่วนใหญ่ของผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมักมีประวัติโรคนี้ในครอบครัว และมีลักษณะบุคลิกภาพแบบเคร่งครัดในระเบียบกฎเกณฑ์ ใส่ใจรายละเอียดมาก ให้ความสำคัญกับความสมบูรณ์แบบ ความสะอาดและความยุติธรรม ตั้งความคาดหวังไว้สูง ปรารถนาที่จะควบคุมสถานการณ์ให้ได้ดี โดยมักมีท่าทีเป็นมิตร โดยเก็บงำความรู้สึกไม่พอใจหรือความรู้สึกด้านลบไว้ภายใน ไม่สื่อสารหรือแสดงออกให้คนอื่นรับรู้ จนกว่าจะถึงจุดหนึ่งที่ทนไม่ไหวจึงระบายความเกรี้ยวกราดหรืออารมณ์ด้านลบออกมาเป็นครั้งคราว ซึ่งก็จะทำให้เกิดความรู้สึกผิดตามมา

       แนวทางการรักษาคือใช้ยาลดความดันโลหิตเป็นหลัก ร่วมกับการทำจิตบำบัดหรือให้คำปรึกษา เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิถีการดำเนินชีวิตให้มีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายมากขึ้น ผ่านเทคนิคการฝึกผ่อนคลาย รวมไปถึงปรับลดความคาดหวังลงให้เหมาะสม สอดคล้องและมีความเป็นไปได้ในความเป็นจริง

โรคแผลในกระเพาะอาหารและอาการท้องอืด (Peptic Ulcer)

       ในทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับมานานแล้วว่าอาการและโรคนี้มีความสำคัญใกล้ชิดกับโรคเครียดแบบวิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) ซึ่งมีลักษณะวิตกกังวลง่าย คิดมาก มักกังวลหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น กระสับกระส่าย หงุดหงิดง่าย สมาธิความจำแย่ลง นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัวหรือปวดตึงกล้ามเนื้อบ่อยๆ รวมถึงอาการของระบบประสาทอัตโนมัติไวกว่าปกติ (ใจสั่น หายใจไม่สะดวก เหงื่อออกง่าย ท้องไส้ปั่นป่วน เวียนศีรษะ) โดยหลายการวิจัยสนับสนุนว่าความเครียดหรือความกังวลนี้ทำให้มีการเคลื่อนไหวบีบตัวของกระเพาะอาหารผิดปกติ ร่วมกับรายงานทางการแพทย์ที่สรุปว่า เมื่อบุคคลต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความเครียดที่รุนแรงเช่น บุคคลใกล้ชิดเพิ่งเสียชีวิตไป เพิ่งเกษียณอายุราชการ จะมีอาการของโรคแผลในกระเพาะอาหารและอาการท้องอืดมากกว่าคนทั่วไป


       ในอดีตเชื่อว่าโรคนี้เกิดจากภาวะที่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป แต่ในปัจจุบันพบว่าร้อยละ 95.99 ของผู้ป่วยโรคนี้มีการติดเชื้อแบคทีเรีย H.pylori ทั้งในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้แผลในกระเพาะอาหารไม่หายไป ดังนั้นการใช้ยาต้านจุลชีพ 2-3 ขนานควบคู่กัน ร่วมไปกับยาลดกรดและยาในกลุ่มต้านฮีสตามีน จะทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายไวขึ้น และมีอัตราการหายขาดจากโรคมากกว่าการรักษาแบบดั้งเดิม ซึ่งความเครียดและความวิตกกังวล จะส่งผลทั้งเพิ่มปริมาณการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันลดลงจนง่ายต่อการติดเชื้อ H.pylori มากขึ้น

       การรักษาด้วยยาตามที่ระบุเพียงเท่านั้นจึงอาจไม่เพียงพอ ในการรักษาหรือป้องกันโรค และภาวะนี้ในระยะยาวได้ การฝึกผ่อนคลาย เพิ่มทักษะในการแก้ไขจัดการปัญหา และรูปแบบการทำจิตบำบัดที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยปลอดจากอาการดังกล่าวได้นานกว่าผู้ที่รับประทานยารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารเพียงอย่างเดียว

โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome)

       อาการของโรคมักแสดงออกมาในลักษณะท้องผูกสลับท้องเสีย ปวดท้อง และมีลมในระบบทางเดินอาหารมากอย่างเรื้อรัง โดยไม่สัมพันธ์กับชนิดและมื้อของอาหาร การติดเชื้อในทางเดินอาหาร หรือผลจากการใช้ยาบางขนิด ในสหรัฐอเมริกาพบว่าผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ระบบทางเดินอาหารมากกว่าร้อยละ 50 มีอาการของโรคนี้ และกว่าร้อยละ 30 มีสมาชิกในครอบครัวที่มีอาการของโรคนี้ร่วมด้วยเช่นกัน



       การทดสอบด้วยแบบทดสอบทางจิตวิทยาพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการของโรคนี้ มักเป็นผู้ที่มีความวิตกกังวลสูง ขาดความเชื่อมั่น ชอบโทษตนเอง ต้องการการสนับสนุนและกำลังใจ และอาจพบร่วมกับอาการเจ็บป่วยทางกายอื่นๆ (ที่ไม่สามารถอธิบายในทางการแพทย์) ได้อีก เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง อาการชาหรืออ่อนแรงที่ไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น และเมื่อมีความเครียดผู้ป่วยก็จะเกิดอาการนี้มากขึ้น ส่งผลให้ได้รับความสนใจและการดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้างมากขึ้นตามไปด้วย

       บางงานวิจัยได้แยกผู้ป่วยออกเป็นสองกลุ่มตามความผิดปกติด้านสรีรวิทยา คือกลุ่มที่มีอาการท้องเสียเป็นหลัก และกลุ่มที่มีอาการท้องผูกเป็นหลัก ซึ่งพบว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการท้องเสียเป็นหลักมีระดับความเครียดในจิตใจ ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าสูงกว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการท้องผูกเป็นหลัก

       การรักษาโรคนี้จึงจำเป็น้องอาศัยหลายวิธีร่วมกัน ทั้งการใช้ยาในระบบทางเดินอาหารเพื่อปรับสมดุลการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เพื่อบรรเทาอาการท้องผูกและท้องเสีย การควบคุมชนิดของอาหาร การฝึกผ่อนคลายควบคู่กับเทคนิค Biofeedback กาาทำจิตบำบัดเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหรือการใช้ยาด้านเศร้าทั้งในกลุ่ม Tricycles เช่น Amitriptyline, Nortriptyline และกลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors : SSRIs เช่น Sertraline, Fluoxetine ร่วมกับการปรับเปลี่ยนการตอบสนองต่ออาการนี้โดยคนรอบข้างของผู้ป่วย ให้มีการแสดงความสนใจในอาการนี้ของผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

โรคหอบหืด (Asthma)

       มีการพิสูจน์แล้วว่าอาการของโรคเกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน แต่ก็มีข้อสังเกตว่าผู้ป่วยโรคนี้มักมีลักษณะเก็บกดความโกรธและไม่สามารถแสดงความอยากพึ่งพิงผู้อื่นออกมาได้ ทางกดดันทางอารมณ์ดังกล่าวถูกส่งผ่านระบบประสาทอัตโนมัติและระบบภูมิคุ้มกันจนเกิดอาการหอบหืดขึ้นมา



       30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยหอบหืดสามารถพบเป็นโรคแพนิค (Panic Disorder) ร่วมด้วยได้ ภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคหอบหืดมักเกิดจากความทุกข์ทรมานด้านจิตใจที่ต้องเผชิญกับความเรื้อรังของโรค ความอับอายในการเจ็บป่วยและการรักษา นำมาสู่ความสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งทั้งสองภาวะนี้ล้วนส่งผลให้อาการของโรคหอบหืดเลวร้ายลง ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบเป็นประจำ การมองหาปัจจัยเสี่ยงทางจิตใจหรือโรคทางจิตเวชที่อาจพบร่วมได้ หรือผลข้างเคียงของยาแก้หอบหืด (ที่อาจทำให้เกิดอาการคล้ายโรคแพนิค) และทำการรักษาแก้ไข นอกเหนือจากการให้ยาขยายหลอดลม อาจช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้

         ทั้ง 10 โรคทางกายที่ัป็นผลจากจิตใจดังกล่าว แม้จะมีรอยโรคหรือพยาธิสภาพทางกายเกิดขึ้นจริง แต่การใช้ยาเพียงเพื่อรักษาอาการทางกายเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจมิติด้านสภาพจิตใจจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาด้อยลงไป ดังนั้นการรักษาที่เหมาะสมควรจะรวมการปรับเปลี่ยนรักษาด้านจิตใจ สังคมและการเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของผู้ป่วยควบคู่ไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น