วันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กินอยู่อย่างไรป้องกันอัลไซเมอร์ส

"กินอยู่อย่างไรป้องกันอัลไซเมอร์ส"
โดย มิสแซฟไฟร์


คงเป็นเรื่องเศร้าเหลือทน ถ้าวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกว่างเปล่า ไม่หลงเหลือความทรงจำใดๆ จำหน้าคนที่เรารักไม่ได้ และสูญเสียความสามารถในการควบคุมตัวเองอย่างสิ้นเชิง แล้วจะมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่ออะไร!!

อาการข้างต้นเป็นผลพวงมาจาก “โรคอัลไซเมอร์ส” ฝันร้ายของคนยุคปัจจุบัน โดยผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก “The Lan cet Neurology” คาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 จะมีประชากรโลกเป็นโรคอัลไซเมอร์สถึง 106 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านคน ในปี 2010

ทำไมคนเป็นโรคอัลไซเมอร์สกันเยอะขึ้นอย่างน่าตกใจ ไม่ต่างจากโรคมะเร็ง “ศาสตราจารย์แครอล ไบรอัน” หัวหน้าทีมวิจัยชุดดังกล่าว ค้นหาปัจจัยเสี่ยงที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดโรคอัลไซเมอร์สก่อนวัยอันควร และพบว่า นอกเหนือจากเรื่องกรรมพันธุ์ และความเสื่อมของสมองที่เกิดขึ้นตามอายุมากขึ้น พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เร่งรีบในยุคปัจจุบันก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ส โดยมีตัวเร่งเร้าเพิ่มดีกรีความเสี่ยงมาจากความเครียด, การเป็นโรคอ้วน, สูบบุหรี่ กินเหล้า และอาหารการกินที่บริโภคเข้าไปในแต่ละวัน ซึ่งเต็มไปด้วยสารพิษปนเปื้อน

การจัดระเบียบการกินอยู่ใหม่เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีขึ้น สามารถทำได้ง่ายกว่าที่คิด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอัลไซเมอร์สชาวอเมริกัน “ดร.นีล แบร์นาร์ด” เขียนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้ห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ส ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารในชีวิตประจำวัน โดยคุณหมอลงทุนไปเก็บข้อมูลตามพื้นที่บลูโซนส์ ซึ่งเป็นแหล่งประชากรอายุยืนที่สุดของโลก ไม่ว่าจะเป็นโอกินาวา, คอสตาริกา หรือซาดีเนีย ทำให้พบว่า คนอายุยืนเหล่านี้ทานพืชผักผลไม้ที่ปลูกเอง, ทานเนื้อสัตว์น้อยมาก และจะทานอาหารแค่พออิ่มเพียง 80% เพื่อให้ร่างกายเผาผลาญดี

เนื่องจากครอบครัวของคุณหมอเป็นโรคอัลไซเมอร์สกันทั้งตระกูล ไล่ตั้งแต่คุณปู่, คุณย่า, คุณตา, คุณยาย มาจนถึงพ่อแม่ ทำให้คุณหมอเติบโตมากับความหวาดกลัวว่าจะต้องตายด้วยโรคอัลไซเมอร์ส ด้วยเหตุนี้ จึงมุ่งมั่นศึกษาด้านอัลไซเมอร์สจริงจังจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้ ปัจจุบันคุณหมออายุเข้าเลขห้าแล้ว แต่ยังมีสมองแข็งแรงและไม่มีสัญญาณของโรคสมองเสื่อมปรากฏให้เห็นเลย

“ดร.นีล แบร์นาร์ด” เขียนไว้ในหนังสือ “POWER FOODS FOR THE BRAIN” ถึงความจริงที่ค้นพบว่า การป้องกันโรคอัลไซเมอร์สไม่ได้เริ่มที่การไปหาหมอในโรงพยาบาล แต่ควรเริ่มที่ตัวเรา โดยการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันเป็นอันดับแรก จากการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่ค้นพบคือ ในสมองของคนเป็นโรคอัลไซเมอร์ส จะมี “โลหะหนัก” มากกว่าคนทั่วไป คำว่า “โลหะหนัก” ก็มีตั้งแต่ทองแดง, ตะกั่ว, สังกะสี, ดีบุก, สารหนู, ปรอท และธาตุเหล็ก ซึ่งมักปะปนมากับผักผลไม้ที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลง, การดื่มน้ำที่มีสารปนเปื้อน, การทานเนื้อสัตว์และนมเนยในปริมาณมากๆทุกวัน, การทานวิตามินรวมที่มีแร่ธาตุผสมอยู่มากเกินความต้องการของร่างกาย หรือแม้แต่การย้อมผมบ่อยเกินไป เมื่อโลหะหนักเหล่านี้เข้าไปปนเปื้อนในสมองมากๆเข้า ก็จะส่งผลให้เส้นใยสมองในบริเวณนั้นตายลงและใช้การไม่ได้

สิ่งที่คุณหมอเน้นก็คือ อาหารที่เราหยิบเข้าปาก สิ่งที่เราหายใจเข้าไป หรือแม้แต่สัมผัสกับเนื้อตัว ก็ล้วนมีผลต่อสมองทั้งสิ้น ส่วนตัวแล้ว คุณหมอเลิกทานปลาและอาหารทะเลทุกชนิด โดยให้เหตุผลว่า สัตว์ทะเลอาศัยอยู่ในทะเล ซึ่งมนุษย์ใช้ทิ้งขยะและสารเคมี ทำให้ได้รับสารปนเปื้อนโลหะหนักสูงสุด แม้ตัวปลาจะมีโอเมก้า 3 แต่เป็นไขมันดีเพียง 15-25% ส่วนที่เหลือเป็นไขมันไม่ดี จึงไม่คุ้มที่จะเสี่ยง ในทางกลับกัน คุณหมอชี้ว่า ควรหันมาทานผักและถั่วเป็นหลัก เพื่อช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ส โดย “พาวเวอร์ฟู้ดดีต่อสมอง” ที่มีโลหะหนักต่ำและวิตามินสูง ต้องยกให้ มันเทศ, บร็อกโคลี, มะม่วง, เม็ดฟักทอง, อัลมอนด์, นมถั่วเหลือง, ถั่วทุกประเภท โดยเฉพาะถั่วแดงและถั่วดำ, ข้าวซ้อมมือ, ข้าวโพด, กล้วย, ส้ม, ข้าวโอ๊ต, พริกหวาน และแอสพารากัส ขณะเดียวกันก็อย่าลืมปลดปล่อยความเครียดด้วยการออกกำลังกาย...เมื่อเหงื่อออกสมองโล่ง จะทำอะไรก็ไม่ติดขัด.

ขอขอบคุณสาระดี ๆ จากไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น