วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิจัยพบ "กระเทียม-มะนาว" ช่วยรับรสเค็มได้ดีขึ้น แม้ใส่เกลือน้อย ระบุเพิ่มสมุนไพรไทย 25-50% ในเมนูอาหารไทย ลดปริมาณโซเดียมได้ 25% ช่วยลดปัญหาเจ็บป่วยเรื้อรัง


          น.ส.ชุษณา เมฆโหรา นักวิจัยสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษากลิ่นรสสมุนไพรไทย 14 ชนิดต่อการรับรสเค็มในน้ำซุป ได้แก่ ตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า ผักชีฝรั่ง สะระแหน่ โหระพา พริกขี้หนู กระเทียม พริก มะนาว หอมแดง ผักชี ต้นหอม และขิง เพื่อศึกษาคุณสมบัติด้านกลิ่นรสของสมุนไพรไทยต่อการปรับลดปริมาณโซเดียม ในโครงการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงสมุนไพรไทย
          สำหรับการเตรียมอาหารลดโซเดียม โดยใช้เทคนิคด้านกลิ่นรสจากสมุนไพรไทย ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม พบว่า กลิ่นรสของกระเทียมและมะนาว ช่วยเพิ่มการรับรสเค็มในน้ำซุปได้ดีขึ้น นั่นคือ แม้จะใส่เกลือปริมาณน้อย แต่ก็ช่วยให้รู้รสเค็มได้ ส่วนกลิ่นรสของพริก ผักชีฝรั่ง โหระพา ใบมะกรูด และหอมแดง เพิ่มการรับรสเค็มได้เล็กน้อย
          "จากการวิจัยนี้ได้นำสมุนไพรมาพัฒนาเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงสมุนไพร 4 รสชาติ ได้แก่ ผงปรุงรสกระเทียมและสมุนไพร ซอสผัดสไปซี่ เพลสท์ สมุนไพรไทย และผงปรุงรสแซ่บอีสาน ซึ่งนำมาประกอบอาหารได้หลายเมนู" น.ส.ชุษณา กล่าว
          ทั้งนี้ สถาบันฯ พร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน หรือผู้ประกอบการ นำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับใช้สมุนไพรไทยเพื่อลดปริมาณโซเดียมในอาหาร โดยสถาบันฯ ยังได้ทำการทดสอบคุณสมบัติสมุนไพรไทยต่อการปรับลดโซเดียมในอาหาร 8 เมนู เช่น ต้มยำกุ้ง ขนมจีนน้ำยา ผัดกะเพราไก่ ผัดฉ่าทะเล หมูอบพริกไทยดำ ไก่ย่างสมุนไพร น้ำตกหมูและยำตะไคร้กุ้งสด พบว่า การเพิ่มสัดส่วนสมุนไพรไทยในอาหารแต่ละเมนูขึ้น 25-50% ลดเค็ม 25% จะช่วยลดปัญหาเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ

ขอขอบคุณบทความสาระดี ๆ จาก http://www.thaihealth.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น